27 มกราคม 2553

ข้อความนี้อ่านมาและอยากขยาย

เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคมมีงานวันคนพิการจัดโดยกรุงเทพมหานคร และ ๒๒ ธันวาคมมีงานของสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งมีประเด็นตรงกับเรื่องนี้พอดี




งานวันคนพิการที่กทม. จัดนั้นมีการเชิญวิทยากรทั้งคนพิการและนักวิชาการมาพูดถึงความก้าวหน้าของกฏหมายไทยที่จะให้ประโยชน์แก่คนพิการ ยกตัวอย่างเช่น เบี้ยยังชีพ 500 บาทต่อเดือน การเพิ่มจำนวนโควต้าจาก 200:1 เป็น 50:1 (จ้างงานคนพิการ) การให้ทุนคนพิการเรียนปริญญาตรีฟรี การสนับสนุนค่าใช้จ่ายผู้ช่วยส่วนตัวคนพิการ การให้บริการล่ามภาษามือ ฯลฯ ซึ่งเกือบทุกอย่างล้วนแต่จัดให้คนพิการโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ในณะที่การประชุมอีกที่หนึ่งเกี่ยวกับสิทธิของคนพิการในการเข้าถึงกิจการโทรคมนาคม เมื่อสามปีที่แล้ว มีการออกประกาศ USO (Universal Service Obligation) หรือบริการทั่วถึง หนึ่งในประกาศดังกล่าวมีการแจกบัตรโทรศัพท์ (พินโฟน) ให้คนพิการจำนวน 1,000,000 ล้านใบ ใบละ 100 บาท ทุกเดือนเป็นเวลา 30 เดือน (ณ ขณะนี้ประกาศ USO ฉบับใหม่ออกแล้ว แต่บัตรเก่ายังแจกไม่หมด) รวมเป็นเงิน (1,000,000 x 100 x 30) 3 พันล้านบาท ซึ่งไม่ใช่จำนวนน้อยๆ ในขณะเดียวกันก็มีคนพิการให้ความเห็นว่ามีบัตรแล้วใช้ไม่ได้ เช่น ตู้โทรศัพท์สาธารณะที่จะใช้ไม่สะดวกสำหรับคนพิการ คนตาบอดไม่ทราบรหัสบนการ์ดเนื่องจากไม่มีอักษรเบรลล์ คนพิการหลายคนไม่ทราบว่าจะไปเอาบัตรที่ว่าได้ที่ไหน ฯลฯ และนโยบาย/กฎหมายต่างๆ เหล่านี้ต่างก็บอกว่า เป็นการให้สวัสดิการด้วยฐานสิทธิ



ผมได้แสดงความเห็นไปว่า ตอนนี้ประเทศของเรากำลังคลั่งคำว่าสิทธิ ทุกคนพูดเรื่องสิทธิ ทุกคนโฆษณางานของตนว่าเป็นงานเชิงสิทธิ แต่เราเข้าใจคำว่าสิทธิมากน้อยเพียงใด เรากำลังสับสนกับคำว่าสิทธิกันอยู่หรือเปล่า จากนโยบายและกฎหมายข้างต้น ผมเกิดคำถามว่า “เรากำลังจะหนีจากการทำงานเชิงสงเคราะห์หรือเรากำลังส่งเสริมให้มีการสงเคราะห์มากขึ้นโดยอ้างว่าเป็นสิทธิ” อยู่หรือเปล่า? ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า กลยุทธ์การ “ลดแลกแจกแถม” นั้นยังใช้ได้ในสังคมของเราอยู่ และนักการเมืองหรือหน่วยงานของรัฐก็ใช้กลยุทธ์เช่นว่านี้กับประชาชนบ่อยครั้ง และก็จะได้รับความนิยมแทบทุกครั้ง (ประชานิยม) เพราะกลุ่มเป้าหมายเป็นประชาชนกลุ่มใหญ่ จำนวนกลุ่มเป้าหมายมีมาก คนอยากได้ของฟรีมีมาก โครงการที่ออกมาก็เลยดูเหมือนประสบความสำเร็จเพราะได้รับการตอบรับดี เช่น การให้เบี้ยคนพิการ 500 บาทต่อเดือน กลุ่มเป้าหมายคือคนพิการที่จดทะเบียน ณ ตอนนี้ประมาณเกือบหนึ่งล้านคน แต่จำนวนคนพิการที่จดทะเบียนก็จะเพิ่มขึ้นจากนโยบายนี้ด้วยอย่างแน่นอน เพราะคนพิการอยากได้เบี้ยยังชีพ 500 บาท ผมไม่ได้ต่อต้านนโยบายนี้ และไม่ได้บอกว่าคนพิการไม่ควรได้รับเบี้ยยังชีพ แต่คำถามต่อไปของผมก็คือ



ระหว่างสวัสดิการจากรัฐ (จะให้ด้วยแนวคิดฐานสิทธิหรืออะไรก็แล้วแต่) กับโครงสร้างพื้นฐานที่สมเหตุสมผล อะไรมีความสำคัญมากกว่ากัน? หรือเราควรจะให้น้ำหนักในการทำงานกับสองอย่างนี้อย่างไร? ผมเคยยกตัวอย่างว่า “ถ้าสมมติเราเอาโทรทัศน์ไปให้ประชาชนในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ประชาชนจะเปิดโทรทัศน์นั้นได้อย่างไร”? แน่นอนว่าเมื่อระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จะจ่ายไฟไม่มี ประชาชนก็คงเปิดทีวีไม่ได้ หรือไม่ก็ต้องไปดิ้นรนเอาเอง เช่น ไปหาเครื่องปั่นไฟมา เป็นต้น ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและไม่ยั่งยืน ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนพิการในปัจจุบัน ถ้าคนพิการได้เงินมา 500 บาท แต่ระบบขนส่งมวลชน โรงเรียน สถานที่ทำงาน แหล่งท่องเที่ยว ฯลฯ ยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก คนพิการออกจากบ้านไม่ได้ การจะเอาเงิน 500 บาทไปใช้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ก็ต้องหาวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเอาเองอีกตามเคย ถ้าคนพิการได้รับทุนเรียนปริญญาตรีฟรี ก็ต้องไปหาวิธีเอาเองว่าจะไปเรียนอย่างไร จะเข้าถึงตำราเรียนอย่างไร จะสื่อสารกับครูและเพื่อนอย่างไร ฯลฯ จะเห็นได้ว่าเมื่อโครงสร้าง/บริการพื้นฐานไม่พร้อม (ในระดับหนึ่ง) ก็ส่งผลให้สวัสดิการที่ให้กับประชาชนไม่ประสบผลสำเร็จได้เช่นกัน ผมขอตั้งข้อสังเกตอีกข้อว่า นโยบายกฎหมายที่เน้นสวัสดิการให้กับประชาชนรายบุคคล (ได้สิ่งของหรือเงินเป็นสมบัติของตัวเอง) นั้นสามารถทำได้เร็วและมีผลในทางปฏิบัติค่อนข้างไว แต่นโยบายและกฎหมายที่เน้นการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างทางสังคมหรือทางกายภาพ เป็นสิ่งที่เห็นผลช้าและมีผลน้อยในทางปฏิบัติ จะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ แต่เราต้องไม่ลืมว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญมาก เช่น เมื่อคนพิการคนหนึ่งถึงวัยต้องเข้าเรียน เขาก็ต้องสามารถเข้าเรียนได้เร็วที่สุด ไม่สามารถรออีก 5 ปี 10 ปีต่อไปได้ แม้เราจะเคยมีนโยบายว่าคนพิการที่อยากเรียนต้องได้เรียน แต่มันก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งไม่ใช่เป็นเพราะคนพิการไม่อยากเรียน แต่โครงสร้างพื้นฐานที่จะทำให้คนพิการเรียนได้นั้นไม่มี และไม่ได้รับการกล่าวถึงในเชิงนโยบาย (เพื่อให้มีงบประมาณและการปฏิบัติ) เราก็ต้องถามตัวเองว่า เราจะต้องรออีกนานแค่ไหนเราจึงจะมีโครงสร้างพื้นฐานที่สมเหตุสมผลพอให้คนพิการเรียนได้? ซึ่งมันก็ไม่ควรจะนานเกินไปเพราะการศึกษาเป็นฐานสำคัญมาก ที่จะช่วยให้คนพิการมีอาชีพและดำรงชีวิตในสังคมเช่นคนทั่วไปได้ โครงสร้างพื้นฐานอย่างอื่นเองก็ต้องมีการพัฒนาให้มีมากพอและสมเหตุสมผลเช่นกัน



กลับมาที่เรื่องสิทธิ ผมกำลังเกิดคำถามว่า สิทธิที่เราอ้างถึง ณ ขณะนี้มันคือสิทธิอะไรกันแน่ มันคือ “สิทธิมนุษยชน (Human rights)” หรือ “สิทธิพลเมือง (Civil rights)” หรือ “สิทธิที่ได้รับตามกฎหมาย (Entitlement)” เราเข้าใจความแตกต่างของสิทธิทั้งสามอย่างนี้หรือไม่ สิทธิมนุษยชน เป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกคนในโลกได้รับตั้งแต่แรกเกิด เช่น สิทธิในการมีชีวิต สิทธิในการเคลื่อนที่ สิทธิในการได้รับการศึกษา สิทธิในการได้รับบริการด้านสุขภาพ สิทธิการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมและวัฒนธรรม เป็นต้น สิทธิพลเมือง เป็นสิทธิที่ประเทศนั้นๆ ให้แก่ประชาชนทุกคนของประเทศ เช่น สิทธิในการเลือกตั้ง สิทธิในการมีบัตรประชาชน สิทธิในการโยกย้ายถิ่นฐาน เป็นต้น ส่วนสิทธิตามกฎหมายนั้น เป็นสิทธิที่ให้กับคนเฉพาะกลุ่ม เช่น คนพิการ/คนชรามีสิทธิในการได้รับเบี้ยยังชีพ 500 บาทจากรัฐ เป็นต้น จากจุดนี้ เราจะเห็นได้ว่า การทำงานด้านสิทธิในประเทศไทยนั้นเน้นหนักไปที่ สิทธิตามกฎหมาย ซึ่งเป็นสวัสดิการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเฉพาะกลุ่มและเฉพาะหน้า เราต้องถามตัวเองอีกครั้งว่า การให้สวัสดิการหรือให้ของฟรีแก่ประชาชนนั้นเป็นการสงเคราะห์หรือไม่ อาจไม่ใช่เรื่องผิดที่จะสงเคราะห์ในบางครั้ง แต่ในระยะยาว ประชาชนจะมีทักษะหรือโครงสร้างพื้นฐานที่จะสามารถดำรงชีวิตได้ด้วยตนเองหรือไม่ นโยบายเช่นนี้ก็ไม่ต่างจากการทำโปรโมชั่นโทรศัพท์มือถือค่ายต่างๆ เพื่อเรียกคะแนนจากประชาชน แต่ในระยะยาว ประชาชนจะไม่ได้อะไรที่เป็นรูปธรรมมากพอที่จะต่อยอดต่อไปได้ เช่น การให้เบี้ยคนพิการ 500 บาท แม้จะเก็บเงินนั้นไว้โดยไม่ใช้เลย ในปีหนึ่งก็จะมีเงินเก็บเพียง 6,000 บาท ไม่พอแม้แต่จะซื้อรถวีลแชร์สักคัน เก็บ 10 ปีก็จะได้เพียง 60,000 บาท ไม่พอที่จะซื้อบ้านอยู่ด้วยซ้ำ



ด้วยเหตุนี้ คนพิการจึงไม่สามารถหวังพึ่งสิทธิตามกฎหมายนี้ได้เพื่อความยั่งยืน เราจึงจำเป็นต้องคิดมากขึ้น ทำอย่างไรคนพิการจะอยู่ในสังคมได้ เริ่มต้นตั้งแต่การได้รับการยอมรับในครอบครัวและชุมชน การออกจากบ้าน การเรียน การทำงาน การฝึกทักษะต่างๆ การทำกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนที่คนพิการไม่ได้รับหรือได้รับแต่ไม่เกิดผลจริงในทางปฏิบัติ แน่นอนว่าถ้าเราถามนักการเมืองหรือหน่วยงานของรัฐ เราก็จะได้รับคำตอบว่า มีแผนการอย่างนี้อยู่แล้ว เราไม่ได้ทำอย่างเดียว แต่...น้ำหนักจริงๆ ไปอยู่ตรงไหน? ในทางปฏิบัติงานไหนที่มันเห็นผลสำเร็จมากกว่ากัน? หรือจริงๆ แล้วเราชอบทำงานแบบไหนมากกว่ากัน? งานสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นงานที่เห็นผลช้า หาตัวชี้วัดยาก ใครก็ไม่อยากทำ เช่น การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในระบบขนส่งมวลชนเพื่อให้คนพิการเข้าถึงสิทธิมนุษยชนในการเคลื่อนที่ เราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเมื่อทำไปแล้วคนพิการจะมาใช้หรือไม่ มาใช้กี่คนในหนึ่งเดือน จะได้เงินจากคนพิการเท่าไร คุ้มหรือไม่ ฯลฯ ก็เลยไม่ค่อยอยากทำ อนึ่ง จากตัวอย่างนี้ เราจะเห็นว่าในหลายๆ กรณี สิทธิมนุษยชนจะมีอิทธิพลต่อสิทธิอื่นๆ ด้วย เช่น สิทธิมนุษยชนในการแสดงความคิดเห็น อาจส่งผลให้เกิดสิทธิตามกฎหมายเพื่อให้คนหูหนวกได้รับเครื่องมือสื่อสารเฉพาะ เช่น โทรศัพท์ข้อความ เพื่อสื่อสารกับคนทั่วไป เป็นต้น ในกรณีเช่นนี้ สิทธิตามกฎหมายจะช่วยส่งเสริมสิทธิมนุษยชนได้ด้วย ทีนี้ เราคงต้องมาคิดกันล่ะครับว่า ทำอย่างไร จึงจะทำให้สิทธิตามกฎหมายหรือสิทธิพลเมืองสามารถส่งเสริมสิทธิมนุษยชน (ซึ่งเป็นภาพที่ใหญ่กว่า) ได้ แน่นอนว่าสิทธิตามกฎหมายที่เน้นการสงเคราะห์นั้นอาจไม่ช่วยมากนักหรือเกิดผลสำเร็จได้ช้า โดยเฉพาะการสงเคราะห์ที่ไม่คำนึงถึงความต้องการหรือการมีส่วนร่วมของผู้รับ/ผู้ใช้



ผมเคยถามเพื่อนๆ คนพิการด้วยกันว่าระหว่าง “ของฟรีที่ใช้ไม่ค่อยได้” กับ “ของไม่ฟรีแต่ใช้ได้มากกว่า” เราจะเลือกอะไร เป็นคำถามที่ง่าย และถ้าให้ตอบก็คงง่ายเช่นกัน แต่ในทางปฏิบัติ เราชอบทำแบบไหนกันล่ะครับ?????

5H!2http://www.prachatai.com/node/27036/talk

1 ความคิดเห็น:

  1. นั่นน่ะสิ อ่านแล้วน่าคิด คิดแล้วน่าต่อยอด ความคิดนี้มากๆ วันนี้ ปอยว่าปอยจะลองไปถามขอใช้สิทธิเบี้ยความพิการดูน่ะ และ จะได้ไม่ได้ยังไง มาดูกัน ถ้าได้ เรามาลองคิดและวางแผนกันว่า จะนำเงิน 500 บาทไปทำอะไรให้ชีวิต ยั่งยืนได้บ้าง ในฐานะคนพิการคนหนึ่ง นั่นน่ะสิ จะทำยังไงให้ยั่งยืนจากเงิน 500ต่อเดือนที่ได้มา น่าคิด แต่ที่แน่ ต้องผ่านด่านแรกไปก่อน คือไปขอให้ได้ สิทธินี้มาก่อนน่ะเอง

    โปรดติดตามตอนต่อไป แล้วจึงจะ วิเคราะห์ต่อไปได้ว่า สิทธิเบี้ยความพิการเป็นสิทธิประเภทไหนอย่างไร
    ขอให้เป็นกรณีตัวอย่าง เป็น กรณีศึกษาก็แล้วกัน (ยอมขอประสบการณ์ตรง อ่ะนะ 500 อย่างน้อยในบทบาทแม่ ก็ซื้อนมผงให้ลูกได้ตั้ง กล่องหนึ่งแหน่ะ
    ชวนให้คิดนิด คุณผู้อ่านได้รับสิทธิอะไรบางจากรัฐบาลค่ะ
    สำหรับปอย น่ะ ได้เบี้ยยังชีพ 500 กะ ค่าเลี้ยงดูบุตร 350 บาท จากประกันสังคม ซึ่งสิทธิค่าเลี้ยงดูบุตรนี้ ถ้าไม่เป็นผู้ประกันตนก็ไม่มีสิทธิ ไม่จ่ายเงินสมทบครบตามจำนวน ก็ไม่มีสิทธิ และที่สำคัญถ้าไม่มีบุตรก็ไม่มีสิทธิรับค่าเลี้ยงดูบุตร เบี้ยยังชีพ คนพิการก็เหมือนกัน ถ้าไม่มีบัตรประจำตัวคนพิการก็ไม่มีสิทธิ ที่สำคัญกว่านั้น ไม่เป็นคนพิการที่กฎหมายยอมรับว่าเป็นก็ไม่มีสิทธิ และ ในเมื่อเรามีคุณสมบัติที่จะมีสิทธิ ถามนิด คุณไม่คิดจะใช้สิทธินั้นเดี๋ยวนี้หรอ ใช้ หรือไม่ใช้ค่ะ เป็นปอย ปอยใช้ ไม่ว่าเหตุผลของความจำเป็นของเราจะต่างกันเท่าไร สิทธิ ที่พึ่งได้ เราก็ควรรับ ไม่ใช่หรือคะ คิดง่ายๆ ไม่ต้องเครียดค่ะ เรามีเหตุผล 108 พัน เก้า ที่จะทำหรือไม่ทำอะไร เราจะคิดอย่างไร ก็สุดแล้วแต่ ใจ แต่ สิทธิ ที่รัฐมอบให้อย่าง มีเงื่อนไขเพียงเล็กน้อย รับก็ไม่เสียหาย ไม่ได้ไปปล้น ฆ่า ชิงมาขโมยมาเมื่อไร กัน จริงป่ะ

    ตอบลบ